สำหรับช่วงนี้ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าทั้งราคากุ้งเอง หรือชาวประมงที่เลี้ยงกุ้งก็น่าหนักใน จริงๆแล้วกุ้งนั้นไม่ได้เป็นต้นเหตุของเชื้อโรคแต่อย่างใด ตัวคนหรือมนุษย์เราต่างหากที่เป็นการส่งต่อเชื้อโรคแบบไม่รู้ตัว เอาละมาเข้าเรื่องของกุ้งดีกว่า สำหรับกุ้งก้ามกรามก็เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่เป็นกุ้งราคาดี กำไรงานอีกตัวหนึ่ง เป็นที่ต้องการในตลาดเป็นอย่างมาก

มีชื่อท้องถิ่นซึ่งเป็นที่รู้จักต่าง ๆ กัน เช่น กุ้งก้ามกราม กุ้งนาง กุ้งแห้ง กุ้งใหญ่ กุ้งหลวง กุ้งแม่น้ำ และกุ้งก้ามเลี้ยง มีหลายเชื่อกันเลยทีเดียว แต่ก็จัดไว้ในจำพวกเดียวกันนั้นละ และพบกุ้งชนิดนี้ทั่วไปในแหล่งน้ำจืดที่มีทางติดต่อกับทะเล และแหล่งน้ำกร่อยในบริเวณปากแม่น้ำลำคลอง ปัจจุบันนี้กรมประมงและฟาร์มเอกชนสามารถเพาะพันธุ์กุ้มก้ามกรามได้จึงทำให้มีผู้เลี้ยงกุ้งชนิดนี้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในภาคกลางของประเทศไทย เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ราชบุรี ปทุมธานี เป็นต้น ใครผ่านไปอยุธยาและเป็นสาวกคนทานกุ้งก็คงต้องรู้จักตลาดกลาง แหล่งกุ้งเผาอร่อยขึ้นชื่ออีกด้วย

และกุ้งชนิดนี้เป็นที่นิยมคงเป็นเพราะดีด้วยแต่วิธีการเลี้ยงและการดูแลก็ต้องทำให้ถูกวิธีด้วยไม่งั้นอาจจะต้นทุนจมและขาดทุนได้ง่ายๆ

วิธีการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

วิธีการเลี้ยงกุ้งก้ามกร้าม มีรายละเอียดดังนี้

  1. สถานที่เลี้ยงกุ้งก้ามกราม
    การเลือกสถานที่เลี้ยงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จหรือล้มเหลวในการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เพราะพื้นที่บางแห่งอาจจะไม่สามารถใช้เลี้ยงสัตว์น้ำได้เลย หรือบางแห่งอาจจะใช้เลี้ยงสัตว์น้ำได้แต่จะมีการปรับปรุง บางแห่งอาจไม่ต้องปรับปรุงเลย สำหรับการเลือกพื้นที่เลี้ยงกุ้มก้ามกรามนั้น มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง
    1. คุณภาพดิน ควรเป็นดินเหนียวหรือดินร่วนสามารถเก็บกักน้ำได้ดี และคันดินไม่พังทลายง่าย ดินไม่ควรเป็นดินเปรี้ยวเพราะทำให้สภาพน้ำเป็นกรด ซึ่งไม่เหมาะในการเลี้ยงกุ้ง และอาจส่งผลทำให้กุ้งตายได้
    2. คุณภาพน้ำ บ่อเลี้ยงกุ้งควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่มีคุณภาพดี สะอาด ไม่มีมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งชุมชน และแหล่งเกษตรกรรม น้ำควรมีปริมาณมากเพียงพอตลอดทั้งปี ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีน้ำส่งเข้าบ่อโดยไม่ต้องสูบน้ำ เช่น น้ำจากแม่น้ำลำคลอง คลองชลประทาน ก็จะเป็นการดีเพราะช่วยลดค่าใช้จ่าย

      กรณีที่ไม่แน่ใจว่าคุณสมบัติของน้ำเหมาะสมหรือไม่ ควรนำไปวิเคราะห์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงหรือสถานีประมงฯ ที่อยู่ใกล้เคียง
    3. แหล่งพันธุ์กุ้ง พื้นที่เลี้ยงควรอยู่ในบริเวณที่ไม่ห่างจากแหล่งพันธุ์กุ้ง เพราะจะช่วยให้สะดวกในการลำเลียงขนส่ง และการจัดหาพันธุ์ ซึ่งะจเป็นผลดีต่อสุขภาพกุ้งเนื่องจากกุ้งที่ผ่านการขนส่งเป็นเวลานานมักจะอ่อนแอและมีอัตรารอดต่ำ
    4. สาธารณูปโภค สิ่งอำนวความสะดวกหลายอย่างจำเป็นมากต่อการเลี้ยงกุ้งให้ได้ผลดี เช่น ถนน ไฟฟ้า เพื่อสะดวกในการขนส่งอาหาร ผลผลิต การเตรียมอาหาร หรือการเพิ่มออกซิเจนในบ่อ
    5. ตลาด แหล่งเลี้ยงกุ้งควรอยู่ไม่ไกลตลาดมากเกินไปเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
  2. รูปแบบของบ่อและการก่อสร้างบ่อเลี้ยง
    1. รูปแบบบ่อเลี้ยงกุ้ง ส่วนมากนิยมทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพราะสะดวกในการจัดการและการจับกุ้ง ถ้าเป็นไปได้ด้านยาวของบ่อควรอยู่ในแนวเดียวกับทิศทางลมเพื่อให้ออกซิเจนละลายน้ำได้ดี
    2. ขนาดของบ่อ ปกติจะกว้างประมาณ 25-50 เมตร ส่วนความยาวขึ้นกับขนาดที่ต้องการและลักษณะภูมิประเทศ ขนาดของบ่อที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 1-5 ไร่ ต่อบ่อ แต่ถ้ามีพื้นที่น้อย อาจจะใช้บ่อเล็กกว่านี้ได้ ส่วนบ่อที่มีขนาดใหญ่เกินไปจะทำให้ดูแลจัดการลำบาก และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะทำให้เกิดความเสียหายมากการแก้ปัญหาก็ทำได้ยาก พื้นก้นบ่อต้องอัดเรียบแน่น ไม่มีสิ่งกีดขวางในการลากอวน
    3. ความลึกของบ่อ ต่ำสุดประมาณ 1 เมตร และลึกสุดไม่เกิน 1.5 เมตร โดยมีความลาดเอียงไปยังประตูระบายน้ำออกเพื่อสะดวกในการระบายน้ำและจับกุ้ง บ่อที่ลึกเกินไปจะมีปัญหาการขาดออกซิเจนในน้ำได้ แต่ถ้าตื้นเกินไปก็จะทำให้แสงแดดส่องถึงก้นบ่อทำให้เกิดวัชพืชน้ำได้ง่าย และอาจทำให้อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงมากเกินไปในรอบวัน คันบ่อจะต้องสูงพอที่จะป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และมีความลาดชันพอประมาณ ถ้าคันบ่อลาดชันน้อยไปจะทำให้พังทลายได้ง่าย แต่ถ้ามีความลาดชันมากไปจะทำให้สิ้นเปลืองพื้นที่
    4. ทางระบายน้ำเข้าและประตูระบายน้ำออก ควรอยู่ตรงข้ามกัน โดยอยู่ตรงส่วนปลายของด้านยาว ประตูระบายน้ำควรมีขนาดใหญ่พอเหมาะกับขนาดของบ่อเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้เร็ว และคลองระบายน้ำออกจะต้องอยู่ต่ำกว่าประตูระบายน้ำเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้หมด
  3. การเตรียมบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกราม
    ควรระบายน้ำออกจากบ่อให้แห้ง เพื่อกำจัดศัตรูกุ้ง ได้แก่ ปลา กบ เขียด เป็นต้น ถ้าไม่สามาถรระบายน้ำได้หมดให้ใช้โล่ติ๊นสด 2-4 กิโลกรัม ต่อปริมาตรน้ำในบ่อ 100 ลูกบาศก์เมตร โดยนำโล่ติ๊นสดทุบให้ละเอียดแล้วแช่น้ำประมาณ 2 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ทิ้งไว้ 1 คืน ขยำเอาน้ำสีขาวออกหลายๆ ครั้งจนหมด แล้วนำไปสาดให้ทั่วบ่อทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน จากนั้นหว่านปูนขาวขณะดินยังเปียก กรณีที่บ่อมีเลนมากควรพลิกดินก่อนหว่านปูนขาวและตากบ่อ การตากบ่อจะช่วยให้ของเสียพวกสารอินทรีย์หมักหมมอยู่พื้นบ่อสลายตัวไป นอกจากนี้ความร้อนจากแสงแดดและปูนขาวยังช่วยกำจัดเชื้อโรค และปรสิต รวมทั้งศัตรูกุ้งด้วย

    สำหรับบริเวณที่ดินมีสภาพเป็นกรดหรือที่เรียกว่า ดินเปรี้ยว เมื่อต้องการปรับเปลี่ยนพื้นที่มาเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งควรใช้ปูนขาวให้มากขึ้น ปริมาณปูนขาวที่ใช้ขึ้นอยู่กับว่าดินเป็นกรดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องทำการวิเคราะห์ความต้องการปูนขาวของดินโดยให้หน่วยงานราชการที่บริการการวิเคราะห์คุณสมบัติของดิน เช่น สถานีพัฒนาที่ดินช่วยวิเคราะห์ความเป็นกรดของดิน แต่โดยทั่วไปถ้าเป็นบ่อขุดใหม่และดินไม่เป็นกรดมากอัตราการใส่ปูนขาวอยู่ประมาณ 160-200 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าเป็นบ่อที่เคยเลี้ยงกุ้งมาแล้วและไม่เป็นกรดมากใส่ปูนขาวประมาณ 80-100 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วตากบ่อทิ้งไว้ 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้าดินมีความเป็นกรดมากอาจต้องใช้ปูนขาวสูงถึง 800 กิโลกรัมต่อไร่
  4. การเตรียมน้ำสำหรับเลี้ยงกุ้งก้ามกราม
    หลังจากตากบ่อและใส่ปูนขาวประมาณ 2-4 สัปดาห์ จึงเปิดน้ำลงบ่อโดยกรองด้วยอวนไนลอน หรือตะแกรงตาถี่ เพื่อป้องกันศํตรูกุ้งที่ปนมากับน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไข่และตัวอ่อนของปลาและกบ

    ถ้าน้ำจากแหล่งน้ำที่ใช้มีคุณภาพดี ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพน้ำ อันเนื่องมาจากการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงและของเสียจากโรงงานและบ้านเรือนก็สามารถสูบน้ำเข้าบ่อได้เลย หลังจากนั้นควรกักน้ำไว้ 2-3 วัน เพื่อให้น้ำปรับสภาพเข้าสู่สภาวะสมดุลเสียก่อน แล้วจึงปล่อยกุ้งลงเลี้ยง หรืออาจจะใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตรา 3 กิโลกรัมต่อไร่ ละลายน้ำแล้วสาดให้ทั่วบ่อ ปล่อยทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติก่อนปล่อยกุ้งได้ ถ้าสีของน้ำเป็นสีเขียวอมเหลืองหรือสีน้ำตาลแสดงว่ามีอาหารธรรมชาติพวกแพลงก์ตอนอุดมสมบูรณ์ ก่อนปล่อยกุ้ง 1-2 วันให้ใช้มุ้งเขียวตาถี่ลองลากอวนในบ่อดูถ้าพบว่ามีแมลงน้ำ เช่น มวนวน มวนกรรเชียง แมลงดาสวน ตัวอ่อนแมลงปอ อยู่มากให้กำจัดโดยใช้สบู่กับน้ำมันเครื่องในสัดส่วน 2:1 ใส่ในอัตรา 1.5-2 ลิตรต่อพื้นที่ผิวน้ำ 1 ไร่ ใส่ในช่วงเวลาที่แดดจัดและมีลมสงบ คราบน้ำมันจะปิดรูหายใจของแมลง
  5. การเลือกพันธุ์กุ้งก้ามกราม
    พันธุ์กุ้งก้ามกรามที่ดีควรมีการว่ายน้ำปราดเปรียว แข็งแรง ลำตัวใสและเป็นกุ้งที่คว่ำมาแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ขึ้นไป (อายุประมาณ 25-30 วันขึ้นไป) และได้รับการปรับสภาพให้อยู่ในน้ำจืดไม่น้อยกว่า 1-2 วัน (ถ้าปล่อยกุ้งที่พึ่งคว่ำสองสามวันมักจะมีอัตรารอดต่ำ)
  6. การลำเลียงพันธุ์กุ้งก้ามกราม
    การขนส่งลำเลียงในปัจจุบันนิยมใช้ถุงพลาสติกขนาดกว้าง 14 นิ้ว ยาว 24 นิ้ว (35×60 เซนติเมตร) บรรจุน้ำประมาณ 2.5 ลิตร อัดออกซิเจน 3 ส่วนต่อปริมาตรน้ำ 1 ส่วน บรรจุลูกกุ้งคว่ำประมาณ 2,000 ตัวต่อถุง โดยนิยมขนส่งในช่วงเวลาเช้ามืดหรือเวลากลางคืน เนื่องจากอุณหภูมิอากาศไม่ร้อนจัดเกินไป ซึ่งถ้าขนส่งในช่วงเวลาเช้ามืดหรือกลางคืนไม่จำเป็นต้องใช้รถห้องเย็นควบคุมอุณหภูมิก็ได้ แต่ต้องระมัดระวังความร้อนจากพื้นรถไม่ให้สัมผัสกับถุงบรรจุลูกกุ้งโดยตรง แต่ถ้าเป็นการขนส่งในเวลากลางวันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ควรใช้รถห้องเย็นที่ปรับอุณหภูมิภายในที่ 25 องศาเซลเซียส เพราะถ้าใช้อุณหภูมิขณะขนส่งต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานทำให้กุ้งส่วนใหญ่ตายได้
  7. การปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกราม
    การปล่อยลูกกุ้งก้ามกรามลงบ่อ นิยมทำในเวลาที่สภาพอากาศไม่ร้อนเกินไป เช่น เวลาเช้า หรือเย็น โดยนำถุงบรรจุพันธุ์กุ้งมาแช่ในบ่อที่จะเลี้ยงประมาณ 20 นาที เพื่อปรับอุณหภูมิของน้ำในถุงและน้ำในบ่อให้เท่ากัน แล้วเปิดปากถุงออก จากนั้นตักน้ำในบ่อมาผสมกับน้ำในถุงอย่างช้าๆ ก่อนปล่อยพันธุ์กุ้งลงบ่อ เพื่อช่วยให้กุ้งสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพน้ำในบ่อเลี้ยงและมีอัตรารอดมากขึ้น
  8. ขั้นตอนและวิธีการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม
    1. นำลูกกุ้งที่คว่ำแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ และได้รับการปรับสภาพให้อยู่ในน้ำจืดอย่างน้อย 1-2 วัน ไปอนุบาลในบ่อดินโดยใช้อัตราปล่อยประมาณ 80,000-160,000 ตัวต่อไร่ อนุบาลนานประมาณ 2-3 เดือน จึงได้กุ้งขนาด 2-5 กรมต่อตัว (โดยปกติการอนุบาลในระยะนี้จะมีอัตรารอดประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์) หลังจากนั้นจึงย้ายไปเลี้ยงในบ่อเลี้ยงกุ้งโต โดยปล่อยในอัตรา 20,000-30,000 ตัวต่อไร่ หลังจากเลี้ยงในบ่ออีกประมาณ 4 เดือน ก็ทยอยจับกุ้งบางส่วนที่โตได้ขนาดขายเดือนละครั้งและจับหมดทั้งบ่อเมื่อเลี้ยง 6-101 เดือนขึ้นไป วิธีนี้มีข้อดีคือ อัตรารอดจะสูงไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากลูกกุ้งที่ผ่านการอนุบาลมาแล้วจะแข็งแรงและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในบ่อเลี้ยงได้ดี แต่ข้อเสียคือต้องใช้แรงงานในการเคลื่อนย้ายกุ้งจากบ่ออนุบาลไปลงบ่อเลี้ยง
    2. นำลูกกุ้งที่คว่ำแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ และได้รับการปรับสภาพให้อยู่ในน้ำจืดอย่างน้อย 1-2 วัน ปล่อยลงบ่อเลี้ยงโดยตรงในอัตราประมาณ 40,000-60,000 ตัวต่อไร่ หลังจากนั้นประมาณ 6-10 เดือนขึ้นไปจึงทยอยจับกุ้งที่โตได้ขนาดขายและทยอยจับเดือนละครั้ง จนเห็นว่ามีกุ้งเหลือน้อยจึงจับหมดบ่อ วิธีนี้มีข้อดีคือ ไม่ต้องใช้แรงงานในการเคลื่อนย้ายลูกกุ้ง แต่ข้อเสีย คือ ลูกกุ้งที่ผ่านการขนส่งเป็นเวลานาน บางส่วนอาจจะอ่อนแอและตายในขณะขนส่งหรือหลังจากปล่อยลงบ่อได้ไม่นาน เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในบ่อได้ ทำให้มีอัตรารอดไม่แน่นอน และอาจมีผลเสียต่อการคำนวณปริมาณอาหารที่จะให้ แต่ถ้ามีการขนส่งที่ดีและลูกกุ้งแข็งแรง การเลี้ยงวิธีนี้โดยปกติจะมีอัตรารอดประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์

การคัดกุ้งออกจำหน่ายตามระยะเวลาการเลี้ยงหรือการจับกุ้งก้ามกร้าม

ระยะเวลาเลี้ยงกุ้งขึ้นอยู่กับขนาดที่ตลาดต้องการ โดยทั่วไปหลังจากเลี้ยงกุ้งก้ามกรามได้ประมาณ 4-6 เดือนก็เริ่มคัดขนาดและจับกุ้งบางส่วนขายได้แล้ว และทยอยจับเดือนละครั้ง และจับทั้งหมดเมื่อเห็นว่ากุ้งเหลือน้อย (รวมระยะเวลาการเลี้ยงทั้งหมดประมาณ 8-12 เดือน)

การจับกุ้งให้ได้ผลดีควรลดระดับน้ำในบ่อเหลือประมาณ 50 เซนติเมตรแล้วใช้อวนลาก โดยใช้อวนช่องตาขนาด 4 เซนติเมตร เพื่อให้กุ้งมีขนาดเล็กหลุดรอดออกได้และลดการบอบช้ำ ที่ตีนอวนควรมีตะกั่วถ่วง สำหรับเลชือกคร่าวบนเวลาลากอาจใช้ไม้ไผ่ค้ำไว้โดยเสียบไว้กับทุ่นลอยที่ทำมาจากต้นกล้วย การจับกุ้งนิยมดำเนินการในช่วงเช้าเพราะอากาศไม่ร้อน

วิธีการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

ราคาและการคัดขนาดกุ้งก้ามกราม

ผลผลิตกุ้งก้ามกรามที่ปล่อยในอัตรา 20,000 ตัวต่อไร่ โดยใช้กุ้งที่ผ่านการอนุบาลเป็นเวลา 2-3 เดือน แล้วเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 6-10 เดือน จะอยู่ระหว่าง 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ เนื่องจากกุ้งที่จับมีขนาดและลักษณะแตกต่างกัน จึงทำให้ราคากุ้งแตกต่างกันด้วย ดังนั้น จึงมีการคัดขนาดกุ้งเป็นประเภทต่างๆ ตามลำดับ ดังนี้

  • ตัวผู้ขนาดใหญ่ (กุ้งขนาด 1) ขนาดน้ำหนักประมาณ 100 กรัม (10 ตัว/กิโลกรัม)
  • ตัวผู้ขนาดรอง (กุ้งขนาด 2) ขนาดน้ำหนักประมาณ 70 กรัม (15 ตัว/กิโลกรัม)
  • ตัวผู้ขนาดเล็ก (กุ้งขนาด 3) ขนาดน้ำหนักประมาณ 50 กรัม (20 ตัว/กิโลกรัม)
  • ตัวผู้ก้ามยาวใหญ่ราคาถูกกว่ากุ้งตัวผู้ลักษณะธรรมดา
  • ตัวเมียไม่มีไข่ ราคาจะดีกว่ากุ้งตัวเมียมีไข่
  • ตัวเมียมีไข่
  • กุ้งนิ่ม หรือกุ้งที่เพิ่งลอกคราบ
  • กุ้งจิ๊กโก๋ เป็นกุ้งแคระแกร็นไม่ลอกคราบ